ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนมีโอกาสโต 8%

9
Jun

ส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนมีโอกาสโต8% ด้วยแรงส่งจากความแข็งแกร่งในการเจาะตลาดญี่ปุ่น-อาเซียน ช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา แม้หลายธุรกิจจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แต่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นธุรกิจหนึ่งที่เติบโตสวนกระแส โดยแสดงให้เห็นจาก ภาพรวมการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยปี 2556 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,237.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 8.3% เมื่อเทียบกับปี 2555 สูงกว่ายอดการส่งออกรวมที่หดตัว 0.3%

ในขณะที่ 2 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 188.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งยังคงรักษาอัตราการขยายตัวในระดับที่ดีกว่าการส่งออกรวมของไทยที่ขยายตัวเพียง 0.2%

ทั้งนี้จากทิศทางการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยที่ให้ภาพในเชิงบวก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ในปี 2557 นี้ จะยังเป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทย

โดยมีปัจจัยหนุนจาก ความแข็งแกร่งในการเจาะตลาดส่งออกอันดับ 1 อย่างญี่ปุ่น : ทำให้คาดว่ายอดคำสั่งซื้อจะยังทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยแรงหนุนมาจาก 1.ความได้เปรียบในเรื่องคุณภาพและดีไซน์ ความปลอดภัยและประโยชน์ใช้สอยของตัวสินค้า ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่น

2.สินค้าที่มีการนำเข้าจากไทยสูง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ไม้และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง โดยเฉพาะจากจีนที่ยังมีข้อด้อยด้านทรัพยากรไม้ยางพาราที่มีจำนวนน้อย และยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

3.ญี่ปุ่นลดการพึ่งพาสินค้าจากจีน ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในการรับคำสั่งซื้อมากขึ้น

4.ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นมีการร่วมทุนกัน เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์และขยายตลาดกระจายสินค้า (Distributors) ในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยยังส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 หรือมีสัดส่วน 23.7% ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2557 แต่อาจต้องติดตามการขึ้นภาษีการขาย (Sales Tax) ของญี่ปุ่น จาก 5% เป็น 8% ในเดือนเมษายน 2557 ว่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศมากน้อยเพียงใดในระยะต่อไป

ตลาดสหรัฐฯและยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัว : โดย 2 ตลาดนี้ ถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญที่สุดในโลกสำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ เนื่องด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคภายในประเทศนิยมตกแต่งและเปลี่ยนแปลงเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ โดยในปี 2557 คาดว่าคำสั่งซื้อจะกลับมาพลิกฟื้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หนุนให้ยอดการส่งออกไปยังตลาดกลุ่มนี้กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากขยายตัวติดลบในปีที่ผ่านมา

ตลาดอาเซียนและกลุ่มประเทศเกิดใหม่อย่าง BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) เติบโตแบบก้าวกระโดด : เป็นผลจากการลงทุนด้านโครงการอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย โรงแรม สำนักงานและธุรกิจบริการ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ ตลอดจนการขยายไปสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) ภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการของเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่งเพิ่มมากขึ้น

กลยุทธ์ของผู้ประกอบการที่หันมารุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น : โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการตลาด โดยอาศัยกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภค อาทิ การเข้าไปเปิดตลาดใหม่ๆ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่น กระจายสินค้าไปสู่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น การขยายสาขาแฟรนไชส์ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงช่องทางการขายออนไลน์ ในขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนก็ได้ขยายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและแรงงาน อาทิ ลาว เมียนมาร์

จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยปี 2557 จะมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,300-1,340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 5-8% จากปี 2556 ซึ่งเติบโตในทิศทางที่ทรงตัวหรือชะลอเล็กน้อยจากปี 2556 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเผชิญการแข่งขันที่ร้อนแรงมากขึ้นจากจีน เวียดนาม มาเลเซีย โดยเฉพาะด้านราคา ต้นทุนแรงงาน ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักอย่างไม้ยางพารา แต่ในภาพรวมจะยังสามารถประคับประคองให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2556

โดยสินค้าศักยภาพในการทำตลาด ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่วนตลาดที่น่าจับตามองในปี 2557 นี้ คือ ตลาดอาเซียน ที่คาดว่าจะมีโอกาสทะยานขึ้นสู่ตลาดส่งออกอันดับ 2 ได้ในปี 2557 นี้ เป็นรองเพียงญี่ปุ่น จากความต้องการเฟอร์นิเจอร์ภายในภูมิภาคที่เติบโตสูงแบบก้าวกระโดดรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558

จับตาการเติบโตในตลาดอาเซียน ความต้องการยังสูง โอกาสทำตลาดยังมีอีกมาก โดย “อาเซียน” ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดที่เติบโตสูงและน่าจับตามองที่สุดในบรรดาตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะสามารถเข้าไปเจาะตลาดผู้บริโภคได้อีกมาก

โดยสิ่งที่น่าสนใจ คือ การลงทุนและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายในภูมิภาค ผลักดันความต้องการเฟอร์นิเจอร์เพิ่มสูงขึ้น : โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ตลาดที่น่าจับตามองที่สุดในปี 2557 ได้แก่ เมียนมาร์ ที่โครงการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างชัดเจน ตามนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และก่อนการเข้าสู่การเปิดเสรี AEC ซึ่งดึงดูดความสนใจด้านการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ตามมา ทั้งกลุ่มโรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าต่างๆ ที่กระตุ้นให้ความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่งเพิ่มสูงขึ้น

ไทยมีความได้เปรียบด้านการออกแบบดีไซน์ที่ทันสมัยและเข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในตลาดบน ที่เน้นดีไซน์ คุณภาพ ประโยชน์ใช้สอย อีกทั้งสินค้ายังได้คุณภาพมาตรฐานเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างจีน เวียดนาม ที่ผู้ประกอบการหลักอยู่ในตลาดล่าง เจาะลูกค้าที่เน้นด้านราคา

การขยายไปสู่ความเป็นเมือง (Urbanization) : การพัฒนาทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ส่งผลให้ความเป็นเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร ทำให้มีความต้องการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านเดี่ยวหรือคอนโดมิเนียม เพื่ออยู่อาศัยและเติมเต็มความต้องการในชีวิตตามวิถีคนเมือง ในขณะเดียวกันธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น ยังส่งผลถึงการขยายตัวของโรงแรมและที่พักต่างๆ ซึ่งล้วนส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน

ไลฟ์สไตล์ของคนในอาเซียนที่หันมาให้ความสำคัญในการตกแต่งที่อยู่อาศัยให้สวยงาม : โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ อาทิ วัยทำงาน กลุ่มที่กำลังจะเริ่มสร้างครอบครัว ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าเข้าไปทำตลาด เนื่องมาจากศักยภาพในการซื้อ (Purchasing Power) ค่อนข้างสูง โดยลูกค้ากลุ่มนี้ มักให้ความสำคัญกับคุณภาพและประโยชน์ใช้สอยมาเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยในปัจจุบัน ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ด้วยเหตุนี้ ความต้องการเฟอร์นิเจอร์สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้จึงยังมีอีกมาก โดยเฉพาะในหัวเมืองสำคัญๆ อาทิ จาการ์ตา มะนิลา โฮจิมินท์ ย่างกุ้ง กัมลาลัมเปอร์

การร่วมทุนทางธุรกิจเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน เพื่อบุกตลาดอาเซียน : ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนในแถบเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น ที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ทั้งนี้ด้วยรสนิยมผู้บริโภคที่ใกล้เคียงกันและระบบโลจิสติกส์ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทำให้ไทยได้เปรียบในการที่จะเข้าไปบุกตลาดได้มาก ขณะที่การขยายสาขาแฟรนไชส์ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ของผู้ประกอบการไทยไปยังอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่เปิดโอกาสให้แบรนด์สินค้าไทยเข้าไปทำตลาดได้มากขึ้น

สินค้าที่คาดว่าจะสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบที่เน้นงานดีไซน์ สำหรับงานตกแต่งอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าตลาดบน อาทิ กลุ่มโรงแรม รีสอร์ท ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียมระดับหรู รวมถึงอาคารสำนักงาน เป็นต้น ส่วนลักษณะเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในอาเซียน ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบ Modern สมัยใหม่ ที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบวงจร เป็นต้น โดยสินค้าพื้นฐานที่มีศักยภาพในการทำตลาด ได้แก่ ชุดโต๊ะเก้าอี้ เตียง และตู้เสื้อผ้า

ช่องทางการตลาดที่สำคัญ ได้แก่ 1.การจับมือพันธมิตรในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคเป้าหมายผ่านตัวแทนจำหน่าย 2.การขยายสาขาหน้าร้านแฟรนไชส์ 3.ช่องทางการขายออนไลน์ 4.ร่วมมือโดยตรงกับโครงการต่างๆ อาทิ ที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท ในการจัดหาเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่ง

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยนั้น ตลาดส่งออกมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะที่กำลังซื้อในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแรง ดังนั้นการทำธุรกิจในระยะต่อไป การรักษาส่วนแบ่งในตลาดหลัก ควบคู่กับการเพิ่มช่องทางการขาย ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไทย มีช่องว่างในการเข้าไปเจาะตลาดผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ที่โอกาสเติบโตยังมีอีกมาก

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยไปยังตลาดอาเซียน ขยายตัวสูงถึง 41.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยสามารถรักษาการเติบโตในระดับสูงไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จากที่ขยายตัว 35.3% ในปี 2556 มีปัจจัยหนุนจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายในภูมิภาค การขยายความเป็นเมืองและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ที่หันมาให้ความสำคัญกับการตกแต่งที่พักอาศัย ช่วยผลักดันความต้องการเฟอร์นิเจอร์เพิ่มสูงขึ้น

โดยกลยุทธ์ในการเจาะตลาด ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว และบริการ ควบคู่ไปกับการศึกษาไลฟ์สไตล์ รสนิยมของผู้บริโภค รวมถึงเงื่อนไขและนโยบายของประเทศคู่ค้า เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันอาศัยจุดแข็งของไทย โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบ ดีไซน์ และการตลาด เข้ามาเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์แนว Eco-friendly (สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เป็นต้น จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน รวมถึงสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นได้

ข่าวสารจาก WWW.THAILAND LOGISTICS.COM

Leave A Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.