ผลการศึกษาของดีเอชแอลบ่งชี้ว่าบริษัทลอจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในการช่วยค้นหาข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง

24
Feb

ดีเอชแอลเปิดตัวรายงานเรื่อง ทิศทางของบิ๊กดาต้าในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์

การวิจัยดังกล่าว คือ ส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาและวิเคราะห์ทิศทางธุรกิจลอจิสติกส์ของดีเอชแอล

 

กรุงเทพฯ 20 มกราคม 2557 – ดีเอชแอล ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ชั้นนำของโลก เปิดตัวรายงานผลการวิเคราะห์ทิศทางของระบบบิ๊กดาต้าในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ ซึ่งมีทีมนวัตกรรมของดีเอชแอล คัสตอมเมอร์ โซลูชั่นส์ แอนด์ อินโนเวชั่น (DHL Customer Solutions & Innovation) เป็นผู้จัดพิมพ์และเผยแพร่ โดยมุ่งเน้นนำเสนอหลักเกณฑ์ 3 ประการที่บริษัทลอจิสติกส์และอุตสาหกรรมอื่นๆ นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งได้แก่ ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ประสบการณ์สำหรับลูกค้า และรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ รายงานการวิจัยดังกล่าวยังนำเสนอตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติให้เป็นจริงได้ในทั้ง 3 ด้านดังกล่าว

 

“บิ๊กดาต้า” (Big data) คือ ชื่อที่ใช้เรียกข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลที่มาจากแหล่งต่างๆ และมีการจัดเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์และประเมินผลโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสุดล้ำ ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้งานได้เป็นข้อมูลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการมีระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังเช่น การบันทึกข้อมูลการจัดส่งสินค้าหรือพัสดุ หรือการจัดเก็บข้อมูลการสั่งจ่ายยาในภาคสาธารณสุข เป็นต้น บริษัทและองค์กรต่างๆ จึงคาดหวังว่า การวิเคราะห์และประเมินข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เข้าใจถึงทิศทางที่เกี่ยวข้องได้ล่วงหน้า ส่งผลให้บริษัทและองค์กรต่างๆ มีแต้มต่อในการแข่งขันมากขึ้น

 

มาร์ติน เวกเนอร์ รองประธานด้านการวิจัยและพัฒนา  ดีเอชแอล คัสตอมเมอร์ โซลูชั่นส์ แอนด์ อินโนเวชั่น กล่าวว่า “บิ๊กดาต้าและอุตสาหกรรมลอจิสติกส์มีความสัมพันธ์กันอย่างแท้จริงบริษัทผู้ให้บริการลอจิสติกส์ต่างๆ ต้องดูแลและบริหารจัดการสินค้าที่มีการไหลเวียนเข้าออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดข้อมูลที่ต้องจัดการในปริมาณมหาศาล ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าจำนวนหลายล้านครั้ง อาทิ จุดหมายปลายทาง ขนาดของสินค้า น้ำหนัก และข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะหรือรายละเอียดของสินค้านั้นๆ ต้องมีการบันทึกเก็บไว้ทุกวัน ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บนี้มีศักยภาพในการนำมาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งด้วยกระบวนการดำเนินการดังกล่าวทำให้บริษัทลอจิสติกส์มีศักยภาพในการทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยค้นหาข้อมูลสำหรับการใช้งานในด้านต่างๆ ได้อย่างดี”

 

สำหรับรายงานทิศทางของบิ๊กดาต้าในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ที่ดีเอชแอลจัดทำขึ้นครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำระเบียบวิธีการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้กำหนดทิศทางสำคัญๆ เพื่อจุดประกายในการสร้างแนวคิดใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำระบบบิ๊กดาต้ามาใช้สนับสนุนธุรกิจลอจิสติกส์ใน 3 ด้าน ดังนี้

 

ประการแรก การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้เส้นทางจัดส่งสินค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์ โดยมีการจัดเรียงลำดับการจัดส่งสินค้า การพิจารณาสถานการณ์การจราจร และการคำนึงถึงความพร้อมของผู้รับเป็นสำคัญ ประการที่ 2 การมีศักยภาพในการคาดการณ์ความล่าช้าในระบบซัพพลายเชน รวมถึงการรับมือและบริหารการให้บริการลอจิสติกส์อย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้ให้บริการลอจิสติกส์สามารถสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้แก่ลูกค้าได้มากขึ้น และประการสุดท้าย ระบบบิ๊กดาต้าจะทำให้ผู้ให้บริการลอจิสติกส์มีแนวคิดในการสร้างสรรค์รูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ดังเช่น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอากาศ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด และการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ของผู้บริโภค ด้วยระบบการวิเคราะห์ดังกล่าวจะทำให้ทราบว่า การเกิดปัญหาด้านสภาพอากาศส่งผลให้มีการซื้อสินค้าทางระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณสินค้าและพัสดุที่จัดส่งโดยตรง กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ระบบบิ๊กดาต้าสามารถช่วยบริษัทต่างๆ ในการพัฒนากระบวนการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ รายงานเรื่อง “บทบาทของระบบบิ๊กดาต้าในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์” (Big Data in Logistics) เปิดให้ดาวน์โหลดได้ที่ www.dhl.com/bigdata โดยรายงานการวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิเคราะห์ธุรกิจลอจิสติกส์ของดีเอชแอล ซึ่งศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมของดีเอชแอลได้นำเทคโนโลยี Trend Radar มาใช้วิเคราะห์ทิศทางการดำเนินธุรกิจ และศึกษาแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบสำคัญต่ออนาคตของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์

เครดิต : http://www.logisticsdigest.com/

Leave A Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.