การติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
เรียบเรียงโดย อรพิน อุดมธนะธีระ ตำแหน่งนักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการพิเศษ สำนักโลจิสติกส์
ที่มาจาก Logistics Forum ปีที่ 5 ฉบับที่ 21 มีนาคม – เมษายน 2557
จากกระแสความใส่ใจในสุขอนามัยของผู้บริโภค ส่งผลต่อการออกกฎระเบียบต่างๆ มาควบคุมผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ว่าจะเป็น GMP, HACCP, BRC, ISO และอื่นๆ อีกหลายมาตรฐานและมาตรการ รวมถึงการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ หรือ Traceability ก็เป็นหนึ่งมาตรการที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้ออกกฎระเบียบนี้ขึ้นเพื่อกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าในอุตสาหกรรมอาหาร แสดงถึงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตต่างๆ ให้กับผู้บริโภคได้สามารถเข้าถึงข้อมูล และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่สินค้าอาหารนั้นๆ มีปัญหา
วัตถุประสงค์ของการใช้ระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ คือ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารที่จำหน่าย และเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหากลับอย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยอาศัยหลักการระบุที่มาและที่ไปของตัวสินค้า ซึ่งต้องสามารถตรวจสอบได้ทั้งการควบคุมคุณภาพ กระบวนการผลิต การบรรจุ การขนส่ง และการจำหน่าย หรือตั้งแต่เริ่มผลิตไปตลอดทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ผ่านระบบการจัดการฐานข้อมูล ทั้งระบบเอกสาร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนอุปการณ์ต่างๆ เช่น เครื่องบันทึกและอ่าน RFID (Radio Frequency Identification) เครื่องพิมพ์และเครื่องอ่าน Barcode, QR Code เป็นต้น
ระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 กระบวนการ คือ
1. การติดตาม (Tracking) คือ ระบบที่ใช้ติดตามได้ว่าสิ่งที่สนใจนั้น จะไปอยู่ ณ ที่ใด เช่น ผู้ผลิตสินค้านั้นพบว่าวัตถุดิบในการผลิตสินค้าล็อตหนึ่งมีปัญหา แต่สินค้าได้ถูกส่งไปจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ทางผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นต้องเรียกคืนสินค้าทั้งหมดที่ผลิตจากวัตถุดิบล็อตที่มีปัญหา และได้จำหน่ายออกไปแล้ว ผู้ผลิตต้องติดตามเส้นทางการผลิตและการจัดจำหน่าย เพื่อจะได้ทราบว่าสินค้าที่มีปัญหามีการวางจำหน่ายอยู่ที่ใดบ้าง และสามารถเรียกคืนสินค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว การดำเนินการดังกล่าว คือ การค้นหาปลายทางของสินค้านั่นเอง
2. การตรวจสอบย้อนกลับ (Tracing) คือ ความสามารถสืบได้ว่าสินค้าที่มีปัญหาผลิตขึ้นเมื่อใด จากสายการผลิตไหนและการรับวัตถุดิบมาจากที่ใดบ้าง จากแหล่งการผลิตไหน เพื่อค้นหาว่าจุดใดที่ก่อให้เกิดปัญหา และจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาได้ผลิตสินค้าไปมากน้อยเพียงใด อีกทั้งมีข้อมูลรายละเอียดในขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตอย่างไร เพื่อทำการติดตามสินค้าคืนได้อย่างถูกต้อง การดำเนินการดังกล่าว คือ การค้นหาต้นทางของสินค้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาปลายทางของสินค้าต่อไป
ระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับในหลายๆประเทศ ได้มีการพัฒนาขึ้นตามมาตรฐานต่างๆ โดยส่วนมากเน้นไปที่สินค้าส่งออก และสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญภายในประเทศ หรือสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยเป็นพิเศษ เช่น โรคระบาด จึงทำให้เกิดรูปแบบของระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับหลายๆ รูปแบบ ตัวอย่างเช่น ประเทศออสเตรเลียได้นำเสนอ National Livestock Identification System ของโค ซึ่งเป็น IT Base โดยการติด Ear Tag ของโคแต่ละตัว และสามารถตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่การเลี้ยงในฟาร์ม จนถึงจำหน่ายให้ผู้บริโภค เพื่อใช้ในการจัดการต้านโรคและสารตกค้างในเนื้อ
สำหรับในประเทศไทยมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งดำเนินการเองโดยภาคเอกชน และความร่วมมือภาครัฐ เช่น เครือเบทาโกร กลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ หรือ Betagro e – Traceability อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยในขั้นแรกมุ่งเน้นที่ธุรกิจไก่ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไปจนถึงโรงงานผลิตอาหารปรุงสุก รวมทั้งกระบวนการผลิตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันได้พัฒนาเทคโนโลยีสู่การสแกน QR Code ที่ติดบนผลิตภัณฑ์ โดยโทรศัพท์มือถือที่มีกล้องถ่ายรูปและโปรแกรม QR Code Reader นอกจากนี้ เครือเบทาโกร ยังมีความร่วมมือกับสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ในการเผยแพร่ข้อมูลของแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากโรงงานแก่ประชาชนทั่วไป ผ่านระบบสารสนเทศตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์อีกด้วย
QR Code ที่ติดบนผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ พบว่าระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับส่วนใหญ่ที่มีการพัฒนาจะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับของ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ในเครือกลุ่มซีพีเอฟ (CPF) ระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับของสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด และสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด เป็นต้น
สำนักโลจิสติกส์ จึงได้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนาและยกระดับความน่าเชื่อถือด้านสุขอนามัยของสินค้าอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกในตลาดเอเซียและสหภาพยุโรป” เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ที่มีการส่งออกไปยังประเทศ ASEAN+6 และประเทศในสหภาพยุโรป ให้ได้รับการพัฒนาความเชื่อมโยงในโซ่อุปทาน มีความตระหนักถึงประโยชน์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมโยงระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ โดยการให้คำปรึกษาเชิงลึก ณ สถานประกอบการ และพัฒนาระบบกลางเพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ ในรูปแบบ Web Application ชื่อ www.thaifoodtraceability.com สำหรับสถานประกอบการที่ยังไม่มีระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับ โดยระบบกลางดังกล่าวสามารถนำเข้าข้อมูล (Import) และเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับของสถานประกอบการที่มีอยู่แล้วได้ด้วย เพื่อการเป็นระบบกลางที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลติดตามและตรวจสอบย้อนกลับของอุตสาหกรรมอาหารไทย ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นสำหรับลูกค้าหรือผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ
โดยมีสถานประกอบการนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อปี 2555 ประกอบด้วย บริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง บริษัท บุญฟู้ดส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์ลูกอม และบริษัทคู่ค้าหลักที่อยู่ในโซ่อุปทานนำร่องทั้งสอง และในปี 2556 ประกอบด้วย บริษัท ซี.พี.แรม จำกัด ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ บริษัท เฉินโฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด ผลิตติ่มซำพร้อมรับประทาน บริษัท คาเมดะ-เอสทีซี จำกัด (มหาชน) ผลิตขนมแผ่นอบกรอบ และบริษัท ซี.เอ็ม.กัมมี่ จำกัด ผลิตขนมเยลลี
สามารถติดตามข่าวสารด้านโลจิสติกส์ เพิ่มเติมได้ที สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่