ในบรรดาแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเนื้อหอมที่สุดอย่างเมียนมาร์ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีความพยายามจากภาคเอกชนที่จะผลักดันให้มีฐานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น
“เราใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวนำเพื่อให้คนพม่าได้รู้จักที่จะใช้สินค้าของไทยผ่านการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปเยือนเป็นการสร้างอุปสงค์ให้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยนำการค้าขายตามไป” นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตาก บอกเคล็ดลับในการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
ในบรรดาแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเนื้อหอมที่สุดอย่างเมียนมาร์ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีความพยายามจากภาคเอกชนที่จะผลักดันให้มีฐานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น เรียกได้ว่าเป็นเมืองชายแดนขนาดย่อมแต่มูลค่าการค้ากลับไม่เล็กไปตามขนาดของชุมชนเมือง เพราะในปี 2556 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยที่ด่านแม่สอด-เมียวดีแห่งนี้มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท
สินค้าที่ส่งออกผ่านด่านชายแดนแห่งนี้มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าประเภทอุตสาหกรรมและสินค้าจำพวกวัสดุก่อสร้างโดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีเป็นจุดรวบรวมสินค้าซึ่งผู้ค้าไม่ว่าจะจากไทยหรือต่างชาติจะต้องนำสินค้ามารวมไว้ที่จุดนี้ก่อนจะมีคู่ค้าจากฝ่ายเมียน มาร์มาทำหน้าที่กระจายสินค้าในเขตเมียนมาร์ต่อไปโดยผู้นำเข้าสินค้าสามารถขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้ากว่า 300 ชนิดได้จากที่นี่ได้ทันที
แม่สอดถือเป็นด่านพรมแดนที่มีมูลค่าการส่งสินค้าออกสูงที่สุดกว่าด่านอื่น ๆ แม้ว่าจะมีอุปสรรคอยู่บ้างตรงเส้นทางขึ้นเขาเพื่อไปยังเมืองก๊อกกะแร๊กระยะทาง 32 กิโลเมตรที่จะต้องสลับวันไปและกลับแต่ในอนาคตหากเส้นทางบายพาสที่กำลังก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ มูลค่าการค้าขายของแม่สอดอาจจะขึ้นไปถึงแสนล้านบาท
“ถนนที่กำลังก่อสร้างอยู่เหลือเวลาอีกแค่ร้อยกว่าวันก็จะเสร็จสมบูรณ์ ขณะนี้ผ่านขั้นตอนการบดอัดมาเรียบร้อยแล้วคาดว่าในฤดูร้อนนี้รถบางชนิดก็สามารถใช้เส้นทางก่อนได้ ถ้าเส้นทางนี้สะดวกเมื่อไหร่การส่งสินค้าออกจากไทยก็จะยิ่งสะดวกมากยิ่งขึ้นเพราะสามารถย่นระยะเวลาการกระจายสินค้าได้อีกเยอะ”
เมียวดีนอกจากจะเป็นเมืองชายแดนที่ถือว่าอยู่ใกล้กับเมืองหลวงเก่าอย่างย่างกุ้งมากที่สุดแล้ว หากเส้นทางนี้เสร็จสมบูรณ์ก็จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าเข้าและออกจากเมียน มาร์ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงไปสู่มัณฑะเลย์ซึ่งจะเป็นเมืองศูนย์กลางกระจายสินค้าเหมือนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจซึ่งจะมีสินค้าจากไทย จีนและอินเดียมุ่งตรงมาสู่ก่อนจะกระจายต่อไปยังเมืองอื่น ๆ ของเมียนมาร์ รวมทั้งเป็นเส้นทางส่งออกที่เชื่อมโยง 4 ประเทศเข้าด้วยกัน โดยเมียนมาร์มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับทั้งในด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว
“จากที่ได้ไปสำรวจเส้นทางเมืองมะละแหม่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคาราวานจากไทยเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์พบว่าปัจจุบันนี้ถนนของเมียนมาร์มีการพัฒนากว่าเดิม มาก มีการแบ่งเส้นทางสำหรับรถยนต์และรถบรรทุกอย่างชัดเจนเพราะเมียนมาร์ให้ความสำคัญกับเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ขณะที่หอการค้าจังหวัดตากเองก็ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวโดยใช้เป็นตัวนำไปสู่การค้าและการลงทุนในส่วนอื่น ๆ เป็นการสร้างอุปสงค์ก่อนเพื่อให้เกิดความต้องการแล้วจึงค่อยตามมาด้วยการนำสินค้าไปขาย” คุณสุจิตรา จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุ
ขณะที่เมียนมาร์กำลังก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมพิเศษเมียวดีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2558 โดยให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและมอบหมายให้มุขมนตรีของรัฐกะเหรี่ยงเป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการ ล่าสุดบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่างเครือสหพัฒน์ได้เป็นหนึ่งในผู้ที่จะเข้าไปลงทุนเปิดโรงงานในฝั่งเมียนมาร์
“สิ่งที่หอการค้ากำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นก็คือสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์แห่งที่ 2 พร้อมศูนย์ วันสต๊อป เซอร์วิส แบบเดียวกันกับฝั่งเมียนมาร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งแต่คงจะต้องรอต่อไปเพราะถูกเอาไปรวมกับโครงการ 2 หมื่นล้านของรัฐบาลและการตัดอุโมงค์จาก จ.ตาก มายังแม่สอดเพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางจาก 80 กิโลเมตรให้เหลือเพียงแค่ 50 กิโลเมตร”
นอกจากนี้ยังอยากให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ ระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย-เมียนมาร์เพื่อส่งเสริมศักยภาพสินค้าไทยให้สามารถเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นเนื่องจากการขนส่งสินค้าจากแม่สอดไปย่างกุ้งมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบกว่าประเทศอื่น ๆ รวมทั้งเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวแม่สอด มะละแหม่ง พระธาตุอินทร์แขวน หงสาวดี ย่างกุ้ง เนื่องจากเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอย่างมากโดยเฉพาะการท่องเที่ยวบนเส้นทางทางบก
และส่งเสริมสนับสนุน ผู้ประกอบการไทยทั้งระดับกลางและเล็กให้สามารถเข้าไปลงทุนและเจาะตลาดสินค้าในพม่าได้เพราะตอนนี้ในประเทศเมียนมาร์มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก ความต้องการสินค้าจึงมีความหลากหลายมากขึ้น.
ที่มา : เดลินิวส์