จับตาจีนสะดุดลามถึงไทย ฉุดส่งออกรวน ‘ยาง-มัน’ เชื่อยังไปไหว

จับตาจีนสะดุดลามถึงไทย ฉุดส่งออกรวน ‘ยาง-มัน’ เชื่อยังไปไหว
17
Feb

จับตาจีนสะดุดลามถึงไทย ฉุดส่งออกรวน ‘ยาง-มัน’ เชื่อยังไปไหว

การส่งออกของไทยในปีนี้ ยังไม่แน่นอนว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ว่า จะขยายตัวระดับ 7-7.5% หรือไม่ หลังจากได้ปรับลดลงมาครั้งหนึ่งแล้ว จากเมื่อต้นปีที่คาดการณ์ไว้จะเติบโต 8-9% เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายด้านที่สร้างความไม่แน่นอนให้แก่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดสำคัญๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ การฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ ตลาดยุโรปที่ซบเซาลงอย่างชัดเจน ตลาดญี่ปุ่นก็กำลังประสบปัญหาจนต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ส่วน “จีน” ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เมื่อแยกเป็นรายประเทศ ด้วยสัดส่วน 11.71% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายกำลังส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน อาจกระทบต่อยอดส่งออกของไทยในที่สุด อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าไปจีนโดยเฉพาะสินค้าหลักคือ ยางพารา และมันสำปะหลัง ยังมองว่าตลาดจีนยังมีความต้องการซื้อสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง

ตลาดจีนทรุดฉุดส่งออกต่ำเป้า

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกของไทยว่า จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนตลาดอยู่ 12% รองจากกลุ่มอาเซียน ที่มีสัดส่วน 25% ส่วนตลาดในสหรัฐ มีสัดส่วน 10% ยุโรป 8% และญี่ปุ่นราว 10% โดยเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากการบริโภคภายในที่มีปัญหา การมีหนี้สถาบันการเงินสูง นั่นหมายถึงการมีหนี้เสียที่สูงด้วย ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนเองมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเงินแบบสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จึงทำให้ความมั่นใจในการบริโภคลดลง

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรบางส่วนของไทย ตลอดจนสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้ากึ่งวัตถุดิบที่นำไปประกอบและส่งออกอีกทอด ขณะเดียวกันตลาดส่งออกของจีน หลักๆ ก็คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งเศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ชะลอตัวลงเช่นกัน ทางออกของจีนก็คือ การไปเพิ่มการส่งออกในตลาดที่มีศักยภาพ และการที่ทำได้ก็คือ การไปทุ่มตลาด และประเทศไทยก็น่าจะเป็นเป้าหมายที่สินค้าจีนจะมาทุ่มตลาด ดังนั้นผู้ประกอบการไทยเอง นอกจากจะประสบปัญหาการส่งออกที่ลดลงแล้ว ตลาดภายในประเทศอาจต้องระวังสินค้าจีนที่จะมาทุ่มตลาดในไทยด้วย ซึ่งไทยยังไม่มีมาตรการรองรับในเรื่องนี้เลย

“ขณะนี้คำสั่งซื้อสินค้าจากจีนลดลง โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก และยางพารา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการซื้อเพื่อบริโภคภายในประเทศด้วย แต่การบริโภคภายในของจีนก็ลดลงไป ส่วนจะมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเองว่าจะทำได้แค่ไหน ส่วนเป้าหมายการส่งออกของไทยปีนี้มองว่า โตเพียง 3% ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 7-7.5%” นายวัลลภ กล่าว

นายวัลลภ กล่าวด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่งออกประสบปัจจัยลบมาต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤติซัพไพรม์ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤติอียู ตลอดจนปัจจัยลบจากภายในประเทศอีก ทั้งน้ำท่วมครั้งใหญ่ ค่าแรงสูงขึ้น และเงินบาทแข็ง ขณะที่มาตรการที่เสนอขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ประสบกับปัญหาที่ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง แต่เมื่อรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวดีขึ้นภายในการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง แผนการลงทุนชะงัก ความเชื่อมั่นด้านการเมืองสั่นคลอน ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ยังชะลอตัวลงด้วยนั้น มองว่าทางเดียวคือ การกระตุ้นให้การค้าชายแดนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาการค้าชายแดนมีมูลค่าสูงถึง 9.1 แสนล้านบาท แต่เป็นการบริโภคชายแดน 80% มีเพียง 20% ที่เข้าไปถึงศูนย์กลางของประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น รัฐบาลจึงต้องดูว่าควรทำอย่างไรให้สินค้าชายแดนเข้าไปสู่ศูนย์กลางของประเทศนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด และหนทางหนึ่งก็คือ การหาช่องทางให้ผู้ผลิตของไทยสามารถเข้าไปทำตลาดได้ด้วยตนเอง เพราะมีความเข้าใจสินค้าของตนดีกว่าดีลเลอร์ พร้อมทั้งควรอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

“ยาง-มัน”มั่นในตลาดจีนยังโต

ขณะที่ นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจในประเทศนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยไปตลาดจีน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจีนออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะยังขยายตัวได้ถึง 7.5% ซึ่งส่งผลให้ยังมีความต้องการซื้อรถยนต์และยางรถยนต์เพิ่มขึ้น เห็นได้จากในช่วงครึ่งปีแรกจีนนำเข้ายางพาราจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกคิดเป็นเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เมื่อดูผลประกอบการของโรงงานผลิตรถยนต์ และยางรถยนต์ในจีนก็ยังมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงมีความต้องการซื้อรถยนต์และยางรถยนต์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก มีการนำเข้าเมื่อปีที่ผ่านมามากกว่า 3 ล้านตัน โดยครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าจากไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกยางพาราไทยไปจีน มีมูลค่า 49,377.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.49% และคาดว่าทั้งปียอดการส่งออกยางพาราไทยในปีนี้ยังคงเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าอาจจะลดลงไป เนื่องจากราคายางพาราในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนถึง 25% โดยคาดว่าในปีนี้จีนจะมีการนำเข้ายางพาราจากไทยประมาณ 1.6 ล้านตัน

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกยางพาราของไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2 ล้านตัน ในด้านมูลค่าน่าจะลดลงเหลือ 250,000 ล้านบาท หรือลดลง 20% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 270,000 ล้านบาท โดย 5 เดือนที่ผ่านมา ไทยส่งออกยางพาราไปแล้วปริมาณ 1.351 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.7% มูลค่า 3,613 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ลดลง 11% ในเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ส่งออกได้ในปริมาณ 220,005 ตัน เพิ่มขึ้น 0.9% มูลค่า 563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 22%

นางสุรีย์ ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงนั้น กระทบต่อสินค้าที่ส่งออกไปจีนเกือบทุกตัว ส่วนมันเส้น ซึ่งมีจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด โดยไทยมีการส่งออกมันเส้นไปจีนคิดเป็นสัดส่วน 99% ของการส่งออกมันเส้นทั้งหมด ได้รับผลกระทบบ้างจากมาตรการพิเศษที่ผู้นำจีนคนใหม่ประกาศใช้ เช่น การงดจัดงานเลี้ยงที่มีแอลกอฮอล์ และการที่ธนาคารกลางจีนให้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลง จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้มันเส้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลง ทั้งที่การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ รวมถึงอยู่ในอุตสาหกรรมปลายน้ำของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากที่ธุรกิจอสังหาฯ ต้องชะงักงันไปในทันที

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า หากรัฐบาลจีนสามารถควบคุม และรักษาระดับความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของประเทศตามที่ต้องการได้ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องต่อไป ความต้องการในการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมต่างๆ จะยังมีอยู่ต่อเนื่อง ยกเว้นจะมีวัตถุดิบอื่นที่จะเข้ามาทดแทนการใช้มันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมกำลังติดตามการนำถ่านหินมาใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ซึ่งทางจีนคาดว่าจะสามารถผลิตได้จริงในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็น่าจะทำให้มีผลกระทบกับมันสำปะหลังแน่นอน โดยปัจจุบันมันเส้นที่ส่งออกไปจีนจะใช้ในอุตสาหกรรมสูงถึง 80%

ทั้งนี้ การส่งออกมันเส้นไปจีนที่ผ่านมาได้รับผลกระทบ 2 เรื่อง คือ ตลาดจีนที่ชะลอลง และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนหนัก อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปริมาณส่งออกไปยังไม่ลดลง โดยไทยจะส่งออกมันเส้นไปจีนปีละประมาณ 3.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)

จี้รัฐเปิดแผนระบายมันในสต็อก

นางสุรีย์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนักคือ โครงการรับจำนำของรัฐบาล และการที่รัฐบาลระบายมันสำปะหลังในสต็อกของรัฐด้วยวิธีการขายแบบจีทูจี (รัฐบาลต่อรัฐบาล) ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวางแผนการใช้ผิดพลาด ไม่สามารถดูแลลูกค้าได้ กระทบตลาดส่งออกในส่วนของเอกชนทำให้หายไปถึง 2.5 ล้านตัน จะเหลือเพียง 1 ล้านตัน ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เวียดนามเข้ามาขยายตลาดมันสำปะหลังเข้าไปในกัมพูชา จากกรณีการเฝ้าระวังเกรงว่าจะมีการนำเข้ามันมาสวมสิทธิ์ในโครงการจำนำมันสำปะหลัง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มันเส้นในมือของเอกชนเหลือน้อยเพียง 4-5 แสนตันเท่านั้น ทาง 4 สมาคมมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย จึงต้องการจะขอทราบความชัดเจนจากกระทรวงพาณิชย์ว่า จะดำเนินการอย่างไรกับมันเส้นในสต็อกที่ยังเหลืออยู่ ยังไม่ได้ระบายออกไปประมาณ 2.5 ล้านตัน เพื่อทางผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนได้ และสามารถให้คำตอบผู้ซื้อได้ชัดเจน ส่วนแป้งมันที่มีอยู่ในสต็อกรัฐราว 8 แสนตันนั้น ล่าสุดทราบข่าวออกมาแล้วว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมจะระบายแป้งมันแล้ว

 

ที่มา : http://www.komchadluek.net/

Leave A Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.