ไปรษณีย์ไทย มีหนาว! ต่างชาติลุยโลจิสติกส์เจาะ”อีคอมเมิร์ซ” หลัง “ขนส่ง-คลังสินค้า” มีปัญหา

17
Feb

“อีคอมเมิร์ซ” โตไม่หยุด แต่ระบบ “ขนส่งและการจัดการคลังสินค้า” มีปัญหา เปิดทางยักษ์ข้ามชาติตบเท้าขุดทองรุกตลาดในไทย ปูทางรับ “เออีซี” ฝั่ง “เอคอมเมิร์ซ” เปิดเกมรุกเต็มพิกัด ชูบริการครบวงจรตั้งแต่คิดแคมเปญการตลาดยันขนส่งสินค้า ฟาก “ไปรษณีย์ไทย” เล็งคลอดบริการใหม่ “ไอโพสต์” กลางปีจับลูกค้าอีคอมเมิร์ซนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการราคูเท็น ตลาดดอทคอม ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์สำคัญของตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2557 คือ การรุกเข้าสู่ธุรกิจระบบขนส่ง และจัดการสินค้าให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของบริษัทต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบันมีแค่ไปรษณีย์ไทยเป็นช่องทางการขนส่งสินค้าเพียงรายเดียว ซึ่งเท่าที่ทราบจะมีผู้ประกอบการจากสิงคโปร์เข้ามาในเมืองไทยแน่นอน

“ผู้ประกอบการด้านอินฟราสตรักเจอร์จากเมืองนอกจะเข้ามาเล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย มากขึ้น ธุรกิจประเภทนี้มีให้เห็นแล้วในมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยจะเข้ามาจัดการระบบขนส่งและโกดังเก็บสินค้าสำหรับอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ ต่างจากธุรกิจขนส่งในไทยที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ เท่าใดนัก บริการขนส่งยังไม่หลากหลาย ยังส่งอาหารไม่ได้เพราะไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ และเก็บเงินจากปลายทางไม่ได้ เป็นต้น”

นางสาวดรุณพร จิรกิจอนุสรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ กลุ่มทรู กล่าวว่า ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยเริ่มเห็นความสำคัญของระบบโกดังสินค้าและการขน ส่ง เนื่องจากไปรษณีย์ไทยมีปัญหาคุณภาพบริการไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ขณะ ที่ผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่ เช่น เฟดเอ็กซ์ หรือดีเอชแอล แม้แม่นยำและรวดเร็ว แต่ยังไม่มีบริการครบวงจร เช่น การบริการบริหารระบบสต๊อกรวบรวมสินค้าจากผู้ขายหลายราย และจัดส่งให้ผู้ซื้อพร้อมกัน เป็นต้น ทำให้ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากผู้ขายหลายรายได้รับสินค้าล่าช้า จึงทำให้มีผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ เข้ามาในประเทศไทย

โดยเริ่มเห็นแพลตฟอร์มระบบจัดการสินค้าจาก สิงคโปร์ จีน และยุโรปเข้ามาบุกตลาดมากขึ้น โดยมีแพลตฟอร์มใหญ่ให้บริการด้วยโซลูชั่นครบทั้งโลจิสติกส์และคลังสินค้า ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการ

ด้านโลจิสติกส์ในไทยอีก 2-3 รายเริ่มเข้ามาในตลาด ชูจุดเด่นเรื่องความยืดหยุ่นด้านการให้บริการ เข้าใจปัญหาของผู้ประกอบการ ราคาถูกกว่า และไม่มีอุปสรรคด้านภาษาเหมือนรายใหญ่จากต่างประเทศ

“บริการประเภท นี้อยู่ในช่วงเริ่มต้น มีเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทดลองใช้บริการ 1-2 ราย แต่มีส่วนช่วยผลักดันให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโตขึ้น จากการที่ผู้บริโภคได้สินค้ารวดเร็วขึ้น ฟากผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบยุ่งยากกับการจัดส่งและบริหารระบบคลังสินค้าด้วย ตนเอง ที่ผ่านมาเว็บไซต์วีเลิฟช็อปปิ้งใช้คลังสินค้าของเว็บไซต์ไอทรูมาร์ท แต่ในปีนี้จะเริ่มเอาต์ซอร์ซการจัดการสต๊อกและขนส่งสินค้า”

ด้านนาย ทอม ศรีวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทย บริษัท เอคอมเมิร์ซ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนอีคอมเมิร์ซครบวงจร โดยรับหน้าที่ตั้งแต่การทำตลาด สร้างเว็บไซต์ วางระบบจัดเก็บสินค้า ช่องทางขนส่งของ ไปจนถึงมีบริการคอลเซ็นเตอร์สำหรับลูกค้า เน้นจับกลุ่มลูกค้าแบรนด์ไทยและต่างชาติที่ต้องการทำอีคอมเมิร์ซ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน เนื่องจากมีแบรนด์ไทยที่ไม่มีช่องทางการทำอีคอมเมิร์ซของตนเอง และแบรนด์ต่างประเทศจากญี่ปุ่นและเกาหลีมากกว่า 40,000 รายอยากเข้ามาทำตลาดในไทย แต่ไม่มีช่องทาง

สำหรับบริษัทเอคอมเมิร์ซ ตั้งขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 มีบริษัทแม่อยู่ในไทย แต่มีสาขาในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มีรายได้หลักมาจากบริการ 2 ส่วน ได้แก่ การทำตลาด และการขนส่งสินค้า ช่วงแรกเน้นจับกลุ่มแบรนด์ไทยที่ต้องการใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซสำหรับทำตลาด ต่างประเทศ ก่อนขยายไปจับแบรนด์ต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาทำตลาดในไทย

“ปัจจุบัน ผู้บริโภคซื้อของผ่านเว็บไซต์เพราะราคาถูก แต่ถ้าทำให้เห็นว่าซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซสะดวกและไม่เสียเวลาเดินทาง ต่อให้ราคาของเท่ากัน คนก็น่าจะยอมซื้อผ่านออนไลน์”

สำหรับมูลค่า ตลาดรวมอีคอมเมิร์ซไทยแบบ B2C : Business to Consumer ซึ่งผู้ประกอบการขายสินค้าโดยตรงให้กับผู้บริโภคในปี 2557 จะอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น

ด้าน นายปิยวัตร์ มหาเปารยะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานระบบปฏิบัติการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากลุ่มอีคอมเมิร์ซรายย่อยจำนวนมาก แต่ละปีโตไม่ต่ำกว่า15% ซึ่งจุดแข็งของบริษัทคือเป็นแบรนด์ที่รู้จักแพร่หลาย ส่งตรงถึงหน้าบ้านและราคาถูก และขณะนี้กำลังจับตาดูคู่แข่งรายใหม่ด้วยเช่นกัน

“เอกชนรายย่อยน่าจะ เข้ามาเปิดบริการโลจิสติกส์เฉพาะในพื้นที่เมืองที่ใช้ต้นทุนต่ำและจัดส่งได้ ง่าย ขณะที่ไปรษณีย์ไทยมีจุดเด่นเรื่องบริการครอบคลุมทั้งประเทศ แต่พยายามปรับตัวโดยเพิ่มบุคลากรและปรับปรุงคุณภาพบริการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพัสดุเสียหายหรือสูญหายอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับหลักพันราย ขณะที่พัสดุที่จัดส่งมีจำนวนหลักล้าน และมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับจำนวนพัสดุที่เพิ่มขึ้น โดยใช้การเพิ่มกล้องวงจรปิดและอบรมพนักงานให้มากขึ้น และปรับปรุงจักรยานยนต์นำจ่ายให้บรรทุกพัสดุได้มากขึ้นเพื่อความรวดเร็วใน การขนส่ง”

นอกจากนี้ภายในครึ่งปีแรกจะเปิดให้บริการ “ไอโพสต์” สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ “อีคอมเมิร์ซ” โดยเฉพาะ โดยจะไปรับพัสดุจากสมาชิกมาดำเนินการจัดส่งให้ และชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตหรือหักบัญชีได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  15 January 2014

Leave A Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.